ด้วยกระทรวงกลาโหมได้จัดงาน Defense and Security 2023 ระหว่างวันที่ 6 – 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีวัตถุประสงค์ในการรวบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมความมั่นคงในระดับนานาชาติ โดยได้รับความร่วมมือกับหน่วยปฏิบัติทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการจากทั่วทุกมุมโลก และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัย อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ข้าราชการทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พบปะ แลกเปลี่ยนความรู้เพื่อสัมผัสเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย รวมถึงการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในระดับนานาชาติแบบครบวงจร

โดย บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ในฐานะบริษัทของคนไทยที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Deep-tech Innovation หรือเทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นผู้พัฒนาโซลูชั่นต่าง ๆ สำหรับอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ได้ร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ (สอป.) หรือ Industry for National Defense and Security Association (INDSA) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (The Federation of Thai Industries; FTI) จัดแสดงผลงานและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand: MiT) โดยสอดคล้องกับพันธกิจร่วมในการคิดค้น สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาสู่การผลิตยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทย

ซึ่งในงานนี้ บริษัท อาร์วี คอนเน็กซ์ ได้จัดแสดงอากาศยานไร้คนขับ Sky Scout Unmanned Aerial Vehicle (UAV) โดยบริษัทเคยมีผลงานความร่วมมือกับกองทัพอากาศและบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) ในการออกแบบและผลิตอากาศยานไร้คนขับรุ่น RTAF U1 ซึ่งได้สำเร็จและ ส่งมอบประจำการในกองทัพอากาศแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงขีดความสามารถทางด้านการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน การปรับปรุงขีดความสามารถอากาศยาน (Aircraft Upgrade) การซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ยูเอวี (UAV Engine MRO) ระบบควบคุมอัตโนมัติสำหรับระบบไร้คนขับ (Autopilot System) ระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Anti-Drone System) และ Target Drone ที่ใช้เป็นเป้าในการทดสอบประสิทธิภาพในการต่อต้านอากาศยาน

สำหรับผลิตภัณฑ์ทางด้าน Software และ System Design and Integration หรือการออกแบบและบูรณาการระบบ บริษัท อาร์วี คอนเน็กซ์ มีจุดเด่นในการคิดค้นและพัฒนาโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการด้านปฏิบัติงานและภารกิจในทุกมิติ ทั้งทางภาคพื้นดิน ทางอากาศ และทางทะเล เช่น ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี ALPHA (Tactical Data Link) ซึ่งพัฒนาโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของไทย โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรวบรวม วิเคราะห์ ประมวลผล และกระจายข้อมูลข่าวสารทุกรูปแบบในการปฏิบัติภารกิจระหว่างหน่วยบัญชาการกับหน่วยผู้ปฏิบัติ ระบบควบคุมบังคับบัญชาเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (Command & Control Air Defense System) ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลและสั่งการอัจฉริยะ (Integrated Operational Center: IOC) สำหรับการจัดการเมืองอัจฉริยะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ระบบวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศทางภาพ (Image Intelligence Center: IMINT Center) ซึ่งเป็นระบบสำหรับการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมและภาพทางอากาศด้วยเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) รวมทั้งสามารถนำข้อมูลจากหลายพื้นที่มาประมวลผลในการวิเคราะห์ภัยพิบัติ การระบุเป้าหมายทางทหาร หรือแม้กระทั่งการสำรวจทรัพยากรต่าง ๆ

จากจุดเริ่มต้นที่มาจากการพัฒนาเทคโนโลยีของระบบต่าง ๆ เพื่อตอบสนองภารกิจด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ ได้นำพื้นฐานองค์ความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ และเสริมด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในปัจจุบันเป็นตัวนำและผลักดันในการยกระดับ บุคลากร เครื่องมือ เครื่องจักร ต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการด้านความปลอยภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไปในปัจจุบัน เช่น การพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัย (Security & Safety) ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางน้ำอัจฉริยะ (Water Side and Ocean Watch : WOW) ระบบบริหารจัดการความปลอดภัยพื้นที่ปฏิบัติงานอัจฉริยะ (Smart Utility for Site Application : SUSA) รวมถึงระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) ตั้งแต่ระดับศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวัง จนถึงระดับการปฏิบัติการ และการเผชิญเหตุโจมตีทางไซเบอร์แบบครบวงจร (Cyber Security Operation Center : CSOC) นอกจากนี้ อาร์วี คอนเน็กซ์ ยังมีระบบ CSOC ในรูปแบบ Mobile Application จนถึงการให้บริการเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์หลากหลายรูปแบบ เช่น ระบบตรวจจับการฉ้อโกง AGARTHA (Fraud Detection) และระบบการบริหารจัดการข่าวกรองทางไซเบอร์ Wolf Instinct (Cyber Threat Intelligence)

ในโอกาสนี้ อาร์วี คอนเน็กซ์ ได้ถือโอกาสเปิดตัว CYNCLAIR (บริษัท ซินแคลร์ จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัท Start-up ที่ได้นำบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้าน AI ML จากโครงการ Gearing Up Start Up (GUSU) ของบริษัท เพื่อ Spin off จาก อาร์วี คอนเน็กซ์ โดยจะให้บริการด้านการเฝ้าระวังและเผชิญเหตุทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แบบครบวงจร (Managed Detection and Response: MDR) ทั้งในด้านการประเมินความเสี่ยง รวมถึงการใช้เทคโนโลยี AI ผสมผสานกับผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์และนักพัฒนาระบบด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในการเฝ้าระวัง รวมถึงต่อกรกับภัยคุกคามไซเบอร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแบบอัตโนมัติให้กับองค์กรต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ