เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด หนึ่งเดียวของไทยด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอากาศยานได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MoU) กับ HevenDrones Ltd. ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มโดรนยุคใหม่แห่งอิสราเอล สานต่อความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน ตลอดจนขีดความสามารถของ UAV ล้ำสมัย โดยอ้างอิงจากข้อตกลงความร่วมมือฉบับเดิมที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2565 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโซลูชันอากาศยานอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสนับสนุนภารกิจด้านการป้องกันประเทศและการป้องกันภัยให้แก่พลเมือง

ด้วยข้อตกลงฉบับใหม่นี้ ทั้งสองฝ่ายจะแสวงหาลู่ทางเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน พร้อมบูรณาการเข้ากับแพลตฟอร์ม UAV โดยเริ่มต้นจากรุ่น H2D55 ซึ่งจะมีการสาธิตการใช้งานและทดสอบในสภาพแวดล้อมจริงในประเทศไทย รวมถึงการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศชาติ ความร่วมมือในครั้งนี้จะดำเนินการตามการแบ่งงานอย่างสมดุล 50/50 มีการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการเป็นลำดับขั้น โดยตั้งเป้าแผนธุรกิจไว้ที่เดือนตุลาคม 2568 และบูรณาการระบบที่สำคัญภายในสิ้นปีนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ ประธานบริษัท อาร์วี คอนเน็กซ์ กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการจับมือระหว่างองค์กรชั้นนำ แต่คือการเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ร่วม เพื่อสร้างเสริมขีดความสามารถทางอากาศยานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาตนเองอย่างแท้จริง เรามองว่าไฮโดรเจนคือเทคโนโลยีหลักที่จะช่วยตอบโจทย์ UAV สำหรับภารกิจที่มีระยะเวลาปฏิบัติงานยาวนาน ทั้งในมิติของยุทธศาสตร์และมนุษยธรรม”

ด้าน Mr. Joseph Weiss ประธานบริษัท HevenDrones กล่าวเสริมว่า “เราภูมิใจกับความก้าวหน้าที่บรรลุร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2565 และการต่อยอดความร่วมมือในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่ไม่เคยเปลี่ยนของทั้งสององค์กร HevenDrones ได้พัฒนาเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันเป็นผู้จัดหา UAV พลังงานไฮโดรเจนรายเดียวให้แก่กระทรวงกลาโหมของอิสราเอล ล่าสุด เรายังได้ครอบครองกิจการบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้ผลิตแพลตฟอร์ม H2D250 ซึ่งในขณะนี้ได้ถูกนำไปใช้งานโดยหน่วยงานทหารของรัฐในสหรัฐฯ และยังสามารถผลิตไฮโดรเจนภายในพื้นที่ปฏิบัติการได้ด้วยตนเอง ส่งผลให้ UAV สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ”

Mr. Joseph Weiss กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราตั้งตารอที่จะนำศักยภาพดังกล่าวมาสู่ประเทศไทย โดยจะมีการสาธิต UAV รุ่น H2D55 เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ในภาคสนาม”

สุดท้ายนี้ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีข้ามพรมแดนระหว่างอิสราเอลและประเทศไทยมีผลให้ขีดความสามารถของอุตสาหกรรม UAV มีความเป็นปึกแผ่น อีกทั้งยังได้ตอกย้ำเป้าหมายของทั้งสองฝ่ายในการขับเคลื่อนความมั่นคงทางนวัตกรรมเทคโนโลยีการบิน ความยั่งยืนด้านพลังงาน และการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศภายในประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นความร่วมมือที่เติบโตบนรากฐานของความไว้วางใจ นวัตกรรมล้ำสมัย และการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่อนาคตของอากาศยานที่ชาญฉลาดและสะอาดยิ่งขึ้น